ปราสาทบ้านโนนงิ้ว
หากพูดถึง "
อำเภอวังน้ำเขียว" ร้อยทั้งร้อยคงนึกถึง ธรรมชาติ ภูเขา เเละลมหนาว มีน้อยคนนักที่จะทราบว่า อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
ก็พบร่องรอยปราสาทในวัฒนธรรมเขมร ด้วยเหมือนกัน
.
กิจกรรม 1 วัน 1 เรื่อง ตอน “ปราสาทในวัฒนธรรมเขมรที่คุณ (อาจ) ยังไม่เคยรู้จัก” ขอพาทุกๆคน ไปกันที่บ้านโนนงิ้ว หมู่ 3 ตำบลอุดมทรัพย์ อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เพราะเป็นจุดที่พบร่องรอยปราสาทในวัฒนธรรมเขมร อย่างปราสาทโนนงิ้ว
.
ปราสาทบ้านโนนงิ้ว เป็นร่องรอยของอาคารศาสนสถานที่สร้างขึ้นตามคติและรูปแบบการก่อสร้างเนื่องในวัฒนธรรมเขมร ก่อสร้างด้วยศิลาแลง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-18
.
ร่องรอยของปราสาทโนนงิ้ว ปรากฏให้เห็นเฉพาะส่วนฐานของสิ่งก่อสร้าง ซึ่งเป็นส่วนฐานของสถาปัตยกรรมในรูปแบบปราสาท ก่อสร้างด้วยด้วยศิลาแลงเป็นวัสดุหลัก แผนผังที่ปรากฏพบเป็นแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 8 x 8 เมตร ตั้งอยู่ที่ตำแหน่งกลางเนินดินเนินดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางตัวในแนวยาวตามแกนทิศตะวันออก – ทิศตะวันตก ขนาดกว้าง ๒๕ เมตร ยาว 45 เมตร สูงจากพื้นดินโดยรอบประมาณ 2-3 เมตร ส่วนฐานของปราสาทที่พบนี้ก่อวางเรียงด้วยศิลาแลงเป็นกรอบ 2-3 ชั้น สูงจากพื้นดินประมาณ 40-60 เซนติเมตร
.
พื้นที่ภายในของส่วนฐานมีร่องรอยหลุมขนาดใหญ่ที่เกิดจากการลักลอบขุดหาโบราณวัตถุ เหนือจากส่วนฐานขึ้นไปซึ่งตามรูปแบบแล้วจะเป็นส่วนเรือนธาตุและชั้นยอดของปราสาท ซึ่งพังทลายลงหมดแล้วและไม่พบศิลาแลงหรือหินทรายที่เป็นส่วนประกอบของทางสถาปัตยกรรมของส่วนเรือนธาตุและชั้นยอดปราสาทหลงเหลืออยู่ในพื้นที่เลย บริเวณพื้นที่รอบเนินดินปรากฏร่องรอยของแนวคูน้ำที่ล้อมรอบปราสาท ปัจจุบันตื้นเขินหมดแล้ว แต่สังเกตเห็นร่องรอยคูน้ำได้ในด้านทิศใต้
.
สภาพปัจจุบัน ปราสาทโนนงิ้ว เป็นเนินดินสูง มีต้นไม้ขนาดกลางและขนาดเล็กขึ้นปกคลุมทั่วบริเวณ พื้นที่โดยรอบเนินดินด้านทิศเหนือและด้านทิศตะวันออกมีการไถปรับพื้นที่เพื่อปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง ส่วนทางด้านทิศใต้และด้านทิศตะวันตกมีการสร้างบ้านที่อยู่อาศัยใกล้กับส่วนฐานของปราสาท และทางด้านทิศตะวันตกนั้น มีการก่อสร้างศาลาขนาดเล็ก 1 หลัง เป็นอาคารโล่งหลังคามุงกระเบื้อง ด้านในประดิษฐานพระพุทธรูป 1 องค์ ที่สร้างจากปูน รูปแบบศิลปะพื้นบ้าน และด้านนอกศาลาประดิษฐานพระพุทธรูป 1 องค์ ซึ่งสร้างจากปูน รูปแบบศิลปะพื้นบ้านเช่นกัน ปัจจุบัน ในบางโอกาส ชาวบ้านในพื้นที่มีการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่ออยู่บ้าง แต่ไม่ได้ร่วมดูแลรักษาทำความสะอาดพื้นที่โบราณสถาน ทำให้สภาพของโบราณสถานดูแล้วค่อนข้างรก มีวัชพืชขึ้นปกคลุมค่อนข้างมาก
.
บริเวณใกล้เคียงกัน ยังพบ ปราสาทบ้านโนนเหลื่อม (ปราสาทหนองหอย) ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ปราสาทบ้านโนนงิ้ว ระยะทางประมาณ 3.5 กิโลเมตร
.
.
ข้อมูลโดย นายนภสินธุ์ บุญล้อม นักโบราณคดีชำนาญการ
ข้อมูลจาก กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา